“ บิ๊กอู๋ ”หารือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารต่อยอดความร่วมมือ ยกระดับครัวไทยสู่ครัวโลก

 

“บิ๊กอู๋”หารือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารต่อยอดความร่วมมือ ยกระดับครัวไทยสู่ครัวโลก

 

 

รมว.แรงงาน หารือเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร พัฒนาความร่วมมือ ต่อยอดหลักสูตรยกระดับพ่อครัวแม่ครัว ขับเคลื่อนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหาแนวทางความร่วมมือการส่งเสริมยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลก ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า นโยบาย “ครัวไทย สู่ครัวโลก” ของรัฐบาล มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวกับอาหาร ควบคู่กับการพัฒนาฐานข้อมูลธุรกิจด้านอาหารในประเทศและต่างประเทศให้เป็นระบบ โดยใช้มาตรการจูงใจให้ธุรกิจบริการด้านอาหารร่วมให้ข้อมูลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการต่อยอดการมีงานทำ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนของประเทศ 20 ปี

 

 

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและยกระดับพ่อครัวแม่ครัวไทยสู่ครัวโลกผ่าน 5 มาตรการ คือ 1.เตรียมความพร้อมพ่อครัวแม่ครัวไทยให้มีทักษะฝีมือได้มาตรฐาน 2.ขยายตลาดตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวไทยทั้งในและต่างประเทศ 3.สร้างมาตรฐานอาหารไทย 4.ส่งเสริมภาพลักษณ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ และ 5.วิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ตลาดแรงงานยังมีความต้องการพ่อครัวแม่ครัวอีก 15,600 คน ประกอบด้วยภายในประเทศ 11,600 คน ซึ่งกระทรวงดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 13,020 คน ส่วนตลาดต่างประเทศมีความต้องการ 4,000 คน ส่วนผลสำรวจข้อมูลด้านร้านอาหารไทย พบว่า ทวีปอเมริกาเหนือมีร้านอาหารไทย 5,342 แห่ง ยุโรป 2,000 แห่ง ออสเตรเลีย/โอเชียเนีย 3,000 แห่ง และประเทศกลุ่มอาเซียน 1,323 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ

 

การส่งเสริมศักยภาพมาตรฐานฝีมือแรงงานในต่างประเทศ และออกหนังสือให้แรงงานไทยในต่างประเทศด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการเชิญเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในการส่งเสริมด้านอาหารไทย อาทิ โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาฝีมือให้กับพ่อครัวแม่ครัวไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้นทั้งทักษะฝีมือ ภาษา เพื่อขยายตลาดและส่งเสริมแรงงานสาขาอาหารไทยไปทำงานในต่างประเทศ โดยขอให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอผลดำเนินการที่ผ่านมาและแผนที่จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานในการพัฒนาศักยภาพพ่อครัวแม่ครัว ให้สามารถรักษาเอกลักษณ์และคงความเป็นต้นตำรับอาหารไทยที่แท้จริงต่อไป

 

 

 

 

Related posts