จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งระบุว่าตนเองเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากเคสสถานบันเทิงทองหล่อ ออกมาโพสต์เล่าประสบการณ์ของตนเองในขณะที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ที่ไม่ยอมแจ้งข้อมูลใดๆ หรือตอบข้อสงสัยของผู้ป่วยได้เลย และที่สำคัญคือตลอด 10 วันที่นอนรักษาตัว ไม่เคยพบหมอเลยแม้แต่ครั้งเดียว เหมือนตนเองนอนอยู่ในแดนสนธยา
- #Saveบำราศนราดูร เพจดังโต้เดือดหลังผู้ป่วยโควิด-19 เคสผับทองหล่อ โพสต์ตำหนิการรักษา
ต่อมาเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ได้แสดงความคิดเห็นว่า “กราบเรียน พี่ๆ น้องๆ ครับ อาจจะมีความผิดใจกันบ้าง เรียนยืนยัน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลบำราศนราดูรทุกคน ทำงานกันหนักมากทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้ป่วยทั้งที่มีอาการหนักและแยกกักตัว และที่ต้องคัดกรอง มากมาย”
พร้อมทั้งเปิดเผยข้อความจาก นพ.วิศิษฏ์ ประสิทธิศิริกุล รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ที่เขียนถึงกรณีที่ผู้ป่วยโพสต์ตำหนิสถาบัน ระบุว่า…
“จากข้อความในโพสต์นึงของเฟซบุ๊กคนไข้ที่ถูก Isolation จากกรณีติดเชื้อ covid-19 หลังจากสังสรรค์ที่ร้านเหล้าและร้านคาราโอเกะ เหมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าขณะนี้แพทย์และพยาบาลไม่ได้รับมือแต่เฉพาะโรคระบาดเท่านั้น พวกเราต้องปรับตัวและต้องรับมือกับผู้ติดเชื้อ covid-19 ที่จะว่าไปแล้วในหลายๆคนมีอาการน้อยมากจนแทบไม่มีอาการเลย แต่ต้องมาถูกกักตัวเพื่อรอให้เชื้อหมดไปเท่านั้น
ทั้งที่จะว่าไปแล้วเขาเหล่านั้น น่าจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ติดเชื้อ covid-19 ที่อยู่ในอาการป่วยมากกว่า สภาพที่พวกเขาถูกกักกันรอให้เชื้อหมดไปก่อนปล่อยกลับบ้านนั้นเหมาะสมกับพวกเขาหรือเปล่า?
การปฏิบัติของแพทย์ที่พวกเขาคาดหวังไว้กับการดูแลของแพทย์ในแนวทางที่ใช้รักษาผู้ป่วยแบบเดิมๆที่มีอาการป่วยทางร่างกายมาโดยตลอดมันเหมาะสมหรือไม่?
ขณะนี้ต้องยอมรับว่าผู้ติดเชื้อ covid-19 ที่อยู่ในโรงพยาบาลเหมือนตกอยู่ในสภาพ one size fit all ไม่ใช่ tailored made เสื้อผ้าใส่ได้อยู่สบายตัวพอควรแต่อาจไม่เข้ารูป เปรียบกับการดูแลทางการแพทย์ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของ covid-19 ในขณะนี้ การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กนี้กระตุกความรู้สึกว่า พวกเราอาจต้องใช้วิธีบริหารจัดการใหม่ที่เหมาะสมกว่านี้กับผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย (ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับมีเขื้อน้อยหรือมีเชื้อมาก)
ความคาดหวังของเราคือถ้าพวกเขาเชื้อหมดแล้วส่วนรวมจะปลอดภัยแต่วิธีการที่เราทำนั้น อาจก่อให้เกิดความอึดอัดแก่ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ ในขณะที่ผู้ติดเชื้อมีความเป็นปัจเจกซึ่งดูแล้วก็ไม่ผิดอะไรนอกจากนั้นดูเหมือนเป็นการเตือนสติเราด้วยซ้ำว่าเรามีวิธีที่ดีกว่านี้หรือไม่ในการปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้น
จะว่าไปแล้วการให้ความเมตตาหรือให้อภัยต่อกันได้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ในท่ามกลางสภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ประเทศชาติต้องการความร่วมมือและความกลมเกลียวในการผ่านพ้นวิกฤต อยากจะให้มองว่าทุกคนมีความปรารถนาดีต่อกัน ติเพื่อสร้างสรรค์เพื่อหาโอกาสในวิกฤต แต่ไม่อยากให้เรื่องที่ให้อภัยต่อกันได้อย่างนี้กลายเป็นวิกฤตกว่าในความวิกฤตขณะนี้นะครับ”