วันนี้(1 เม.ย.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผยข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่อาจส่งผลถึงโรคสมองอักเสบ รวมทั้งการทำงานผิดปกติของหัวใจด้วย ไม่ใช่แค่ทำลายปอดอย่างเดียวเท่านั้น โดยระบุว่า
“จากการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นร่วมกับการติดเชื้อทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดปกติ
ความรุนแรงของโรค เป็นผลร่วมกันระหว่างการติดเชื้อและการตอบสนองที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย
และแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ปอดบวมก็ตาม แต่มีอวัยวะอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วย ที่สำคัญคือหัวใจ”
นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยังโพสต์อีกว่า
“ดังที่ได้มีการตั้งข้อสังเกต ว่าเชื้อโควิด-19 นั้น อาจจะแสดงอาการอย่างอื่นได้นอกจากระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ปอดบวม โดยทำให้เกิดสมองอักเสบนั้น และต่อมามีรายงานจากประเทศจีนถึงผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะซึม และน้ำไขสันหลังพบเชื้อโควิด-19
นอกจากนั้นลักษณะของตัวไวรัสเองสามารถที่จะเข้าสมองได้และกระทบต่อก้านสมองส่วนล่าง โดยมีผลทำให้การหายใจผิดปกติด้วย
รายงานวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการสมองอักเสบโดยลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นร่วมกับกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีความผิดปกติที่ใจกลางสมองและมีน้ำรั่วออกจากผนังเส้นเลือดพร้อมกับมีเลือดออกด้วย(acute hemorrhagic necrotizing encephalopathy) ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดจากร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสอย่างมากเกินพอเหมาะ
ลักษณะดังกล่าวทำให้ต้องมีความระมัดระวังว่าไวรัสโควิด-19 อาจจะไม่ได้มาด้วยความผิดปกติของปอดอย่างเดียว แต่มีอาการทางสมองอย่างเดียวได้ และมิหนำซ้ำเกิดความผิดปกติทางหัวใจได้เช่นเดียวกัน
ทำให้ต้องขยายคำจำกัดความของผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปอีก”