การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อช่วงเย็นวันนี้ (2 เม.ย.) ไม่ให้ประชาชนออกนอกที่พักอาศัยตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึง 04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่คืนพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นการประกาศตามอำนาจที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 กำหนดเอาไว้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากเข้าไปดูในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 จะพบว่ามาตรา 18 กำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืนเอาไว้ว่า ถ้าหากใครก็ตามฝ่าฝืนคำสั่งที่ออกมาจากการใช้ พ.ร.ก. นี้ จะต้องจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ระบุในมาตรา 18
นอกจากนี้ การประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำให้ทุกคนห้ามฝ่าฝืน แต่คำสั่งดังกล่าวก็ยังเปิดช่องให้คนที่มีความจำเป็น ยังเดินทางได้ ได้แก่
- บุคลากรการแพทย์
- พนักงานด้านการธนาคาร
- พนักงานด้านขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค
- พนักงานด้านขนส่งผลผลิตการเกษตร
- พนักงานด้านขนส่งยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์
- พนักงานด้านขนส่งหนังสือพิมพ์
- พนักงานด้านขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
- พนักงานด้านขนส่งพัสดุ
- ผู้ขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก
- การขนย้ายประชาชนไปกักโรค
- ผู้ที่เข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืน
- ผู้ที่เดินทางออกหรือไปสนามบิน ที่มีเอกสารรับรองความจำเป็น
- เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งของรัฐ
- ผู้ที่รัฐอนุญาต