แฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด และ #MilkTeaAlliance ถูกพูดถึงมากในหมู่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยเมื่อช่วงก่อนรุ่งเช้าวันนี้ (15 เม.ย.) เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ที่มีชาใส่นมเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม
การเคลื่อนไหวนี้ต่อเนื่องมาจาก การปะทะกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยและชาวจีน ในช่วงที่ผ่านมาของเดือนนี้ ผ่านแฮชแท็ก #nnevvy ว่าตกลงแล้วไต้หวันมีฐานะเป็นประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของจีนกันแน่ จนสร้างความสนใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในหลายประเทศของเอเชีย จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ
หลังจากนั้น เมื่อช่วงกลางคืนวานนี้ (14 เม.ย.) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ก็โพสต์แถลงการณ์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความระบุว่า หลักการจีนเดียวเป็นหลักการที่ถูกต้องอย่าง “ไม่ต้องสงสัย” และรัฐบาลไทยเองก็ให้การรับรอง ดังนั้นชาวไทยที่เห็นต่างออกไป จึงมี “อคติ” และ “ความไม่รู้” ทั้งยังอยากให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชาวจีน ที่เสมือนพี่น้องกันมายาวนาน และที่ผ่ามมาจีนก็ช่วยเหลือไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19)
แถลงการณ์สถานทูตยิ่งจุดไฟไซเบอร์
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้นี้ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จนมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นอย่างล้นหลาม ซึ่งหลายความเห็นระบุว่า การกล่าวหาว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอคติและความไม่รู้ ถือเป็นการดูถูกอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่นั้น ในเมื่อไทยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของจีน เหตุใดจึงต้องบังคับให้คนไทยเชื่อหลักการจีนเดียว เหมือนที่ทำกับประชาชนของตัวเองด้วย
นอกจากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนหนึ่งระบุว่า ตนยึดถือหลักการจีนเดียว และไต้หวันเดียว
เทียบปฏิกริยาจีน-ไต้หวัน
ไม่ใช่แค่นั้น บางความเห็นยังระบุว่า ถ้าจีนมองไทยเป็นพี่น้องกันจริง จะแถลงการณ์ข่มขู่กันเช่นนี้หรือ ทั้งยังนำโพสต์ของนางสาวไช่ อิง-เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันมาเปรียบเทียบว่า นางสาวไช่อวยพรให้คนไทยมีความสุขในวันสงกรานต์ และให้กำลังใจต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่แสดงถึงความอบอุ่น เพียงเท่านี้ก็เห็นถึงความแตกต่างแล้ว
ชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่ง เปรียบเทียบอีกด้วยว่า แฟนนางงามชาวไทยมีปากเสียงผ่านคียบอร์ดกับแฟนนางงามฟิลิปปินส์ทุกปี แต่สถานทูตฟิลิปปินส์ไม่เคยออกแถลงการณ์ใดๆ เช่นนี้เลย จึงรู้สึกว่าสถานทุตจีนทำเกินกว่าเหตุ และเป็นฝ่ายทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โตไปเอง
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ระบุว่า พี่น้องประสาอะไร สร้างเขื่อนกักแม่น้ำโขงจนคนไทยและคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วมฉบับพลัน และระบบนิเวศที่ถูกทำลาย หรือที่จริงแล้วพี่น้องที่ว่านี้ คือพี่น้องแบบตัวละครกาสะลองและซ้องปีบ จากละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง
น้ำโขงแห้งผิดปกติหน้าฝนปี 62
การถกเถียงดังกล่าวยังนำไปสู่การวิจารณ์เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนจำนวนหลายเขื่อน ที่มีข้อสันนิษฐานว่า ส่งผลให้ไทยและหลายประเทศที่อยู่ปลายน้ำ เจอความแห้งแล้งและน้ำหลากอย่างสุดโต่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่ ทั้งยังเกิดแฮชแท็ก #StopMekongDam เพื่อโหมกระแสนี้มาอีกแฮชแท็กหนึ่ง
ข้อมูลหนึ่งที่มีการเผยแพร่กันมากในแฮชแท็กนี้ คือ ข้อมูลของ สติมสัน เซนเตอร์ องค์กรคลังสมองที่สนับสนุนสันติภาพและความมั่นคง ที่พบหลักฐานใหม่ว่า ช่วง 6 เดือนหลังของปี 2562 จีนกักเก็บน้ำในแม่น้ำโขงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ระดับน้ำที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ควรจะสูงขึ้น กลับไม่สูงขึ้นเลย ทั้งยังต่ำกว่าช่วงหน้าแล้งของปีดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ประเทศจีนมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแล้ว 11 แห่ง โดยแห่งแรก คือ เขื่อนม่านวาน สร้างเสร็จเมื่อปี 2536 ส่วนเขื่อนล่าสุดคือเขื่อนอูน่งหลง เสร็จเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 แต่เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดคือเขื่อน “นว่อจาตู้” เปิดใช้งานเมื่อปี 2555 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 5850 เมกะวัตต์
Lillian SUWANRUMPHA / AFP
สติมสัน เซนเตอร์ ยังเปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศที่เปรียบเทียบระดับน้ำที่ลดลงในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในเดือน ก.ค. ระหว่างปี 2560 และปี 2562 ซึ่งเป็นฤดูฝน จาก 2 จุด ระหว่างชายแดนไทย-ลาว และที่ทะเลสาบ โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา
Stimson Center / Planet Explorer
ขณะเดียวกัน บางคนยังนำเรื่องการรายงานของสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับการที่นักลงทุนจีน สร้างไร่กล้วยจำนวนมากริมแม่น้ำโขงในฝั่งประเทศลาว โดยพบว่าใช้สารเคมีมหาศาล จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวลาว และระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ที่กระทบต่อเนื่องมายังชาวประมงที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย