“นพ.สมศักดิ์” เผยยา-เตียง มีเพียงพอ รัฐ-เอกชนจับมือรักษาโควิด-19 ฟรี “นพ.ทวี” รับเป็นนาทีชี้เป็นชี้ตาย 90 เปอร์เซ็นต์คนไทยต้องแยกห่างจากสังคม
รายการโหนกระแสวันที่ 25 มี.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 วันนี้ 900 กว่าราย พรุ่งนี้ทะลุพันรายชัวร์ๆ เมืองไทยเป็นอิตาลีโมเดลหรือยัง วันนี้พูดคุยกับ “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ และ “รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์” ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
อาจารย์ทวี ผมเคยถามอาจารย์ว่าเราไม่อยากให้เกินวันละ 100 คน ถ้าเกินต้องประเมินอีกที วันนี้เกินแล้ว ทุกวันร้อยกว่าคน มีไปถึง 180 กว่าคน?
นพ.ทวี : “วันที่เยอะสุดคือ 188 คน เมื่อสองวันที่แล้ว หลังจากนั้นทรงตัวอยู่ระดับ 100 ต้นๆ ระดับนี้เราพอใจ คงต้องทำงานหนักมากขึ้นไปอีก ผมใช้คำว่ามากขึ้นกว่านี้อีกเราถึงจะกดได้ ผมชอบยกตัวอย่างเหมือนรถที่กำลังวิ่งลงเขา เร็วมากเลยนะ การเหยียบเบรกทันทีเป็นไปไม่ได้ ต้องให้พยายามเหยียบเบรกให้มันค่อยๆ ชะลอไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นไปได้ ให้ระดับนี้ไปเป็นเดือน เป็นหลายเดือนก็ได้ เรามีศักยภาพในการที่จะรองรับ ในการดูแล”
ไม่ได้พูดให้คนไทยเบาใจ?
นพ.ทวี : “ไม่หรอกครับ อยากให้เห็นภาพที่แท้จริง”
มีการประเมินจากอาจารย์หมอหลายท่านเขาบอกว่าเมืองไทยกำลังเป็นอิตาลีโมเดล กำลังไต่เพดานขึ้น เทียบเคียงอิตาลีเขาเลย?
นพ.ทวี : “จริงครับ ถ้าเราไม่ทำอะไรก็จะขึ้นแบบนั้น แต่ระหว่างทางเรามีมาตการกดลงได้ ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย ลองดูนะที่ออสเตรเลียเขามีการประเมินหลังผ่านไป 50 วัน ของไทยเราจะเห็นว่าตามกราฟอยู่ตรงกลาง เรากำลังจะชิดกลุ่มบนหรือเราจะชิดกลุ่มล่างมันค่อนข้างเสี่ยง ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการ เราลองดูอีกรูปเป็นของออสเตรเลีย เขาเพิ่งตีพิมพ์ให้ เขาบอกว่าเขาเพิ่งผ่านมา 50 วัน ถ้าเขามีการทำระยะห่างทางสังคมด้วยมาตรการประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์คือสีแดง แสดงว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่เพียงพอ แต่ถ้าทำถึงระดับ 80 เปอร์เซ็นต์มันก็จะวิ่งเป็นเส้นสีเขียว ซึ่งเราอยากได้ แต่จะให้ดีกว่านั้นคือเส้นสีน้ำเงิน ซึ่งต้องทำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เว้นระยะห่างทางสังคม เราจะเห็นว่าไม่ว่าแดงเขียวน้ำเงิน ยังมีหลังเต่า มีแรงเหวี่ยงแรงเฉื่อยอยู่ ขณะนี้เราร้อยกว่าต้นๆ เป็นสิ่งที่เราอยากได้ แต่หลังจากผ่านไปสิบวัน หลังเต่าเริ่มลง สำคัญมากเลยนะครับเป็นเครื่องชี้เป็นชี้ตายสำหรับประเทศเรา ถ้ายังไม่มีการแยกห่างจากสังคมที่เพียงพอ เราก็จะได้เส้นสีแดงพุ่งไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีมาตรการนี้ อย่างน้อยก็จะกดลงไป เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง มาตรการนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ”
มีกรณีเขาลือว่าเตียงไม่พอแล้ว เพราะคนเข้าไปเยอะ บางคนออกมาโพสต์ในโซเชียลเลยว่าไม่มีเตียง หาเตียงไม่ได้ เป็นอย่างนั้นมั้ย?
นพ.สมศักดิ์ : “ผมเรียนอย่างนี้ก่อน เรามีคนไข้ 900 กว่าคน เตียงทั่วประเทศเรามี 11,819 สองช่องบน เป็นห้องแยกความดันลบเต็มรูปแบบกับประยุกต์ และห้องแยกที่ใช้รับคนไข้โควิด หอผู้ป่วยรวมทั่วไป ก็เอามาเป็นเตียงผู้ป่วยโควิด และไอซียู นี่คือทั่วประเทศ ถ้าเฉพาะกรุงเทพฯ ถ้ารวมดู น่าจะ 500 กว่าเตียง ไม่ถึง 600 เตียงดี คนไข้ทั่วประเทศตอนนี้ยังไม่ถึงพัน อยู่กรุงเทพฯ ครึ่งๆ จำนวนเตียงพอเพียงแน่นอน นี่ยังไม่รวมเอกชน ซึ่งขออนุญาตเรียน จะบอกว่าโควิดเป็นวิกฤตก็วิกฤต แต่ผมมองว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกัน”
เอกชนมาร่วมแล้ว?
นพ.สมศักดิ์ : “ตอนนี้มีหลายเครือของเอกชนจะทำเตียงที่เอาคนไข้หลายคนมานอนรวมกัน ทางนี้ผมยืนยันว่ากรมเองได้รับมอบหมายให้เป็นคนประสานงาน คือในกรุงเทพฯ ค่อนข้างซับซ้อน มีรพ. กรุงเทพมหานคร รพ.มหาลัย รพ.ทหาร รพ. ตำรวจ รพ.กรมการแพทย์เอง รพ. รัฐ และมีรพ.เอกชนอีก ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกเครือข่ายมาช่วยกัน”
ทำไมยังมีคนที่เขาบอกว่าเวลาเขาเป็น ทำไมยังต้องนอนรอเตียง?
นพ.สมศักดิ์ : “ตอนนี้เราเอาเตียงจากทุกเครือข่าย เราเริ่มจากกรุงเทพฯ ก่อน และคีย์ข้อมูลเข้าไปทุกวันเพื่อให้เห็นว่าที่ไหนว่าง ถ้าหนักก็นอนห้องความดันลบประยุกต์ มันก็มีปัญหานิดหน่อย ตอนรีเฟอร์คนไข้ไป บางที่ห้องนี้ไม่ว่างจะรีเฟอร์คนไข้หนักไปห้องความดันลบมันเต็ม ก็มีการประสานยุ่งยากนิดนึง แต่เรียนอีกครั้งว่าสักพักนึง พอเป็นเรียลไทม์ออนไลน์ได้ก็ไม่เป็นปัญหาเลย ตอนนี้ผู้ใหญ่หลายคนลงมาช่วยกัน รับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์เตียงพอแน่นอน ถ้าตัวเลขอยู่เท่านี้”
ถ้าไม่ไปไกลถึง 200?
นพ.สมศักดิ์ : “สองร้อยก็ยังไม่ห่วง แต่ไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น นอกเหนือจากตัวเลขเมื่อกี้ เราได้คุยเตรียมการกันว่าถ้ามา 200 300 400 จริง ในคนไข้ที่เป็นน้อยๆ เขานอนนาน”
บางคนเข้าไป ใช้เวลานอนรพ.กี่วัน ถึงออกไป แล้วคนใหม่มาแทนได้?
นพ.สมศักดิ์ : “ถ้าค่าเฉลี่ยที่เจอในกรมการแพทย์ประมาณ 10 กว่าวัน บางราย 20 วัน เดิมคู่มือการรักษาบอกว่าการตรวจเจอไม่ได้บอกหรอกว่าใช่ตัวเชื้อที่มีชีวิตอยู่ อาจเป็นเศษซากของมันก็ได้ พอของเดิมเป็นแบบนี้ ยกตัวอย่างคุณลุงฮอกไกโด นอน 22 วันผลยังเป็นบวก แต่อาการดีขึ้นหมดแล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้กลับ เรามีแผนอย่างนี้กรณีคุณลุงฮอกไกโด รักษาไปแล้ว 5-7 วันอาการดีหมด รอกินยาให้เป็นลบ ต่อไปเราจะย้ายคนไข้ไปนอนหอผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล เราก็หาโรงแรมเตรียมไว้ ตอนนี้เราแพลนว่าเราจะย้ายคนไข้ที่อาการคงที่หรือดีขึ้น ไม่มีปอดบวมแน่นอน แค่กินยาให้ครบหรือกินยาแก้ไข้อื่นๆ ไปนอนที่โรงแรม เราคิดว่าตรงนี้มา 200-300 ก็ไม่กลัว เพราะเรามีเตียงรองรับ แต่เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”
แล้วมุมต่างจังหวัด?
นพ.สมศักดิ์ : “อย่างที่โชว์เตียงไป ถ้าไอซียูเตียงเป็นหมื่น จำนวนเตียงไม่ได้หยุดนิ่งแค่นี้ เป็นไปตามสถานการณ์ เรามีการเตรียมการ วอร์ดตรงนี้รับคนไข้ปกติ อย่างราชวิถี เขาขึ้นตึกใหม่แปลงสภาพชั้น 2 ทั้งชั้น เป็นหอผู้ป่วยรวมโควิด-19 ผู้ป่วยเบา ตรงนี้เป็นจุดที่เราพยายามวางแผนขยายเตียงมาเดือนกว่าๆ ที่แล้ว”
ไปอยู่ใกล้ๆ กัน เชื้อไม่กระจายไปอีกเหรอ?
นพ.สมศักดิ์ : “เดี๋ยวจะชวนไปเยี่ยมที่ราชวิถี เราจะมีระบบ เป็นห้องคล้ายๆ ห้องความดันลบประยุกต์ มีแอนตี้รูมเป็นบริเวณทางเดินที่แยก เข้าไปหัวเตียงมีพัดลมดูดอากาศ มีการควบคุม มีพัดลมดูดอากาศหัวเตียง ถ้าว่างจะเชิญไป”
ถ้าวันนี้ผมป่วย ติดโควิด ผมทำยังไง?
นพ.สมศักดิ์ : “เราตกลงกัน เราประชุมกันทุกวันเสาร์ เราตกลงกันว่าตรวจที่ไหน ที่นั่นรับผิดชอบ สมมติไปตรวจรามาฯ รามาฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าเตียงไม่มี รามาฯ ต้องช่วยหาเตียง รามาฯ ต้องรับผิดชอบก่อน จนกว่าคุณหนุ่มจะได้เตียง ถ้า รพ.เอกชนก็เหมือนกัน ต้องรับผิดชอบในการหาเตียง ถ้าอยากนอนที่นี่ก็ต้องได้แอดมิด”
เรื่องค่าใช้จ่าย?
นพ.สมศักดิ์ : “ตอนนี้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายแล้ว โควิด-19รักษาฟรี ยืนยันว่าเรื่องการรักษาไม่เป็นปัญหา”
ต่อไปตรวจที่เอกชน จำเป็นต้องนอนเอกชนภาครัฐจ่ายเงินให้?
นพ.สมศักดิ์ : “ครับ เราก็พยายามคุยกันว่าทำยังไงให้บาลานซ์ บ่ายนี้เอกชนจะคุยกัน ทุกเครือข่ายรวมกัน”
ยามีอะไรบ้าง?
นพ.ทวี : “มีหลายตัว แต่ตัวเด็ดคืออาวิแกน ถ้าถามว่าพอมั้ย ถ้า ณ ปัจจุบัน รับมือพอ เพราะเท่าที่มีอยู่ในมือประมาณ 700 ราย รักษาทุกคน”
วันนี้ยามีกี่เม็ด?
นพ.ทวี : “เกือบ 5 หมื่นเม็ดที่อยู่ในมือ กำลังสั่งเพิ่มเติม”
นพ.สมศักดิ์ : “ตอนนี้ 5 หมื่นใช้พอสมควร เกือบ 5 หมื่นเม็ดคาดการณ์ว่าอาจพอเพียงไปถึงต้นเดือนเม.ย. แต่จริงๆ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล นายกฯ ท่านรองนายกฯ ประสานงานไปทางญี่ปุ่น เราสั่งซื้อไป 4 หมื่นเม็ด สมมติอีก 2-3 วันถึงก็จะยืดไปได้นานพอสมควร หลังจากนั้นก็เจรจาขอซื้อ 2 แสนเม็ด ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตกปากรับคำแล้ว ก็ขออนุญาตนิดเดียวว่ายามีหลายตัว อาวิแกน หลักๆ เราเอาไว้ใช้ในคนไข้ที่เป็นรุนแรง”
ล่าสุดตายไป 4 ระดับความน่ากลัวเป็นยังไง?
นพ.ทวี : “ถ้าดูข้อมูลระดับโลก อิตาลีอัตราตายเยอะมาก ขณะที่ประเทศใกล้ๆ กันอย่างเยอรมัน อัตราตายต่ำมากจากอิตาลีต่างกัน 70 เท่า ปัญหาเพราะอะไรเขาก็ต้องมีหลายปัจจัย มีคนดูว่าอาจเพาะกระจายเชื้อหรือเปล่า แต่น่าจะเป็นปัจจัยมีผู้สูงอายุเยอะในประเทศนั้นๆ”
ในญี่ปุ่นก็มีอัตราผู้สูงอายุเยอะ ทำไมอัตราการตายต่ำกว่าอิตาลี?
นพ.ทวี : “แรกๆ พอทำเนาแต่ตอนหลังตายเยอะ เพราะพ้นความสามารถของระบบดูแลรักษาที่จะรับมือได้”
เราล่ะ?
นพ.ทวี : “ถ้าเราอยู่ในเส้นสีแดงพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราแยกห่างทางสังคม 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เราอยากได้จริงๆ แยกห่างจากสังคมอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ เราก็สบายใจ เราจะรับมือได้ เป็นปีก็รับมือได้”
พ.ร.ก. เอาอยู่มั้ย?
นพ.ทวี : “ณ วันนี้ต้องบอกว่าเอาอยู่แน่นอน เรามีอย่างที่ท่านอธิบดีบอก เรามีเตียง มีบุคลากร มีคนไข้แค่นี้ ถ้าไม่ดับเบิ้ลในสามสี่วัน เรารับมือได้”
เราประกาศช้าไปมั้ย?
นพ.ทวี : “มีทั้งช้าและเร็ว มีบางประเทศ ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ อินเดียประกาศปิดประเทศสนิทเมื่อคืนนี้ ปรากฎว่าตอนนี้ฝุ่นตลบไปหมดเลย คนพันสามร้อยล้านออกมาแย่งซื้อของ ตอนนี้เขาเจอปัญหาคนที่กลัวว่าจะไม่มีจะกินเลยออกมา หลายๆ ประเทศก็ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ มาตรการต่างๆ แล้วแต่สถานการณ์และแล้วแต่แต่ละประเทศที่ต้องคิดกันว่าอันไหนเหมาะ ต้องเข้าใจว่าโรคนี้เพิ่งเกิดขึ้น 3 เดือน แต่ละประเทศก็มีไอเดียแตกต่างกันไป”
ล่าสุดมีชุดเทสต์อันนึงออกมาของ อ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ท่านกำลังคิดค้นกันอยู่ ทำไมไม่พาออกมาใช้?
นพ.ทวี : “การตรวจมีสองหลักการ หนึ่งตรวจเชื้อ สองตรวจภูมิ ที่คุณหนุ่มตรวจคือภูมิ ซึ่งเชื้อไม่ได้เข้าไปแล้วภูมิจะขึ้นนะ กว่าภูมิจะขึ้นก็ห้าถึงสิบวัน ถ้าคุณหนุ่มป่วยวันเดียวไปตรวจภูมิมันขึ้นมั้ยก็ยัง ชุดตรวจมันมีทั้งข้อดีและเสียหมด การตรวจเชื้อยุ่งยากซับซ้อนมาก ต้องใช้เครื่องมือที่เยอะ ต้องใช้เวลาข้ามวันกว่าจะรู้ผล แต่อันนี้ต้องรอนะครับ 5-7 วัน ภูมิถึงจะเริ่มขึ้นและตรวจภูมิได้ อันนี้ถามว่ามีประโยชน์มั้ย มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ต้องระยะคล้ายของโรค แต่ต้องมองถึงข้อเสียนะ ถ้าคุณหนุ่มไปตรวจเมื่อวานว่าเนกาทีฟ แล้วคุณหนุ่มมาทำงาน ถ้าจะให้ดีต้องเทสต์สองอัน ก็เป็นงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว บังเอิญชื่อมันคือเร็ว แต่ตรวจภูมิคุ้มกันไม่ใช่ตรวจเชื้อ อย่างที่บอกตรวจเชื้อกว่าจะขึ้น 5-7 วัน ถ้าเราตรวจแล้วไม่เจอภูมิ ยังไม่ใช่แต่จริงๆ เชื้อยังมีอยู่ คนไข้คนนั้นก็จะร่อนกระจายไปทั่ว แพร่ไปทั่ว”
คาดว่าตัวเลขจะลงมั้ย?
นพ.สมศักดิ์ : “มันอยู่ที่การร่วมมือของทุกคน เราจะดึงมันลงมั้ย อย่างที่ทุกคนบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทอง 90 เปอร์เซ็นต์เราโอเค อยู่ที่เราจะร่วมมือกันหรือไม่”